ลอดอุโมงค์‘หน้าพระลาน-มหาราช’ ชมโฉมใหม่‘ท่าเรือท่าช้าง’

เปิดให้ใช้งานอย่างเป็นทางการแล้วสำหรับ ‘อุโมงค์ทางเดินลอดถนนหน้าพระลาน-มหาราช’ ในเกาะรัตนโกสินทร์ พื้นที่สำคัญของพระนคร พร้อมเสียงวิพากษ์ที่สุดท้าย พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ต้องออกมาชี้แจงถึงประเด็นคำถามถึงความปลอดภัยและความทนทานของบันไดเลื่อนที่ไม่มีหลังคาคลุม โดยยืนยันว่า ไร้ปัญหาอย่างแน่นอน เนื่องด้วยเป็นระบบที่มีรางระบายน้ำภายใน รวมถึงเครื่องป้องกันน้ำ เหมาะกับการใช้งานกลางแจ้งซึ่งอาจยังเป็นของใหม่ในไทย แต่สำหรับต่างประเทศนิยมใช้อย่างแพร่หลายบริเวณทางขึ้น-ลงสถานีรถไฟใต้ดิน อย่างไรก็ตาม บริเวณสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน หรือ MRT สถานีสนามไชย หน้า ‘มิวเซียมสยาม’ ท่าเตียน ก็มีการใช้บันไดเลื่อนในลักษณะนี้เช่นกัน จุดประสงค์เพื่อคงความงดงาม ไม่บดบังทัศนียภาพของภูมิสถาปัตย์โดยรอบ

แม้เคลียร์ประเด็นนี้เสร็จสิ้นแต่ก็ยังมีผู้ตั้งคำถามฝากถึง ‘คณะกรรมการเกาะรัตนโกสินทร์’ ที่เคยมุ่งเน้นการอนุรักษ์โดยคัดค้านการก่อสร้าง พัฒนาปรับเปลี่ยนสิ่งใดๆ ในพื้นที่ดังกล่าวว่าหายไปไหน?

แต่ไม่ว่าคำตอบคืออะไร ทางลอดที่ว่านี้ก็เสร็จสิ้นสมบูรณ์ภายใต้การดำเนินงานของสำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร โดยระบุถึงจุดมุ่งหมายว่า เป็นไปเพื่อลดผลกระทบด้านการจราจรบริเวณเกาะรัตนโกสินทร์ เพื่อให้เกิดความปลอดภัยและคล่องตัวในการสัญจรของประชาชน อีกทั้งรองรับนักท่องเที่ยวที่มาเข้าชมพระบรมมหาราชวัง และพื้นที่ใกล้เคียง รวมถึงเป็นการปรับปรุงภูมิทัศน์สภาพแวดล้อมของบริเวณสนามหลวง ถนนหน้าพระลาน และถนนมหาราช ให้เป็นระเบียบเรียบร้อย และสวยงามสมกับเป็นสถานที่สำคัญของประเทศชาติ

Advertisement

ในส่วนการก่อสร้างอุโมงค์ทางเดินลอดถนนมหาราช มีระยะทาง 90 เมตร ความลึก 4.7 เมตร ประกอบด้วย โถงทางเดิน ห้องน้ำชาย 15 ห้อง ห้องน้ำหญิง 20 ห้อง ทางขึ้นลง 2 จุด (ระบบบันไดเลื่อน) งานลิฟต์โดยสาร 2 เครื่อง มีพื้นที่รวม 1,043 ตารางเมตร งานระบบสุขาภิบาล ระบบไฟแสงสว่าง งานระบบระบายอากาศและปรับอากาศ ระบบจราจร และงานปรับปรุงภูมิทัศน์คืนสภาพพื้นที่ ขณะนี้โครงการความก้าวหน้าสะสม 99% และอยู่ระหว่างดำเนินการเก็บรายละเอียดงานสถาปัตยกรรมและงานทำความสะอาด ส่วนงานเพิ่มเติมลิฟต์โดยสารคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนกรกฎาคมที่จะถึงนี้

สำหรับการก่อสร้างอุโมงค์ทางเดินลอดถนนหน้าพระลาน มี 2 จุด ประกอบด้วย

Advertisement

จุดที่ 1 อุโมงค์ทางเดินลอดบริเวณจุดตัดถนนหน้าพระธาตุกับถนนหน้าพระลาน ระยะทาง 96 เมตร มีพื้นที่รวม 6,285 ตารางเมตร ความลึก 6.6 เมตร ซึ่งมีโถงพักคอย ห้องน้ำชาย 21 ห้อง ห้องน้ำหญิง 51 ห้อง ทางขึ้นลง 4 จุด (บันได ค.ส.ล. 1 จุด และระบบบันไดเลื่อน 3 จุด) งานลิฟต์โดยสาร 2 เครื่อง และชั้นลอยเป็นห้องเครื่องสำหรับงานระบบควบคุม มีพื้นที่ 358 ตารางเมตร

จุดที่ 2 อุโมงค์ทางเดินลอดบริเวณหน้าที่ทำการไปรษณีย์ไทย สาขาหน้าพระลาน ระยะทาง 37 เมตร ซึ่งมีทางเดินลอดใต้ดิน ทางขึ้นลง 3 จุด (บันได ค.ส.ล. 1 จุด และระบบบันไดเลื่อน 2 จุด) ลิฟต์โดยสาร 2 เครื่อง มีพื้นที่รวม 390 ตารางเมตร งานระบบสุขาภิบาล ระบบไฟแสงสว่าง ระบบระบายอากาศและปรับอากาศ ระบบจราจร และปรับปรุงภูมิทัศน์คืนสภาพพื้นที่ ขณะนี้มีความก้าวหน้าสะสม 52% และอยู่ระหว่างดำเนินการขุดดินและก่อสร้างโครงสร้างพื้นชั้นใต้ดินและหลังคาอุโมงค์ในส่วนที่คงเหลืออีกประมาณ 50% และเตรียมเข้าดำเนินการสถาปัตยกรรม ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนพฤษภาคมที่จะถึงนี้ ส่วนงานเพิ่มเติมของลิฟต์โดยสารคาดว่าจะเสร็จสิ้นในเดือนกรกฎาคม

นอกจากนี้ อีกมุมที่ได้รับความสนใจคือ นิทรรศการประวัติศาสตร์ บอกเล่าถึงเรื่องราวผ่านภาพถ่ายเก่าสะท้อนวันวานของพื้นที่ในย่านดังกล่าว ทั้งตึกรามบ้านช่อง ป้อมอินทรรังสรรค์และกำแพงเมืองในอดีต

อุโมงค์แห่งนี้รองรับนักท่องเที่ยวได้ครั้งละ 400-600 คน รวมวันละกว่า 10,000 คน จัดระเบียบจราจร เพิ่มความปลอดภัย ลดปัญหาอุบัติเหตุจากการข้ามถนน และยังอำนวยความสะดวกให้นักท่องเที่ยวได้มีจุดพักผ่อน นัดพบ ใช้บริการห้องสุขา ก่อนเข้าเยี่ยมชมพระบรมมหาราชวังและสถานที่โดยรอบท้องสนามหลวง โดยจะทยอยเปิดอุโมงค์ที่เหลือเมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จ รองรับนักท่องเที่ยวเมื่อสถานการณ์โควิดคลี่คลายในอนาคต ซึ่งเดิมมีนักท่องเที่ยวเข้าเยี่ยมชมพระบรมมหาราชวังและบริเวณโดยรอบประมาณ
วันละ 38,000-42,000 คนต่อวัน

ไม่เพียงเท่านั้น อุโมงค์แห่งนี้ยังเชื่อมต่อการคมนาคมกับ ‘ท่าเรือท่าช้าง’ ซึ่ง ‘กรมเจ้าท่า’ ร่วมกับ ‘สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์’ พลิกโฉมแล้วเสร็จไปเมื่อเดือนธันวาคม 2564 เพื่อความสะดวก ปลอดภัย รวมถึงมีรูปลักษณ์ที่สวยงาม เหมาะสมกับพื้นที่เชิงประวัติศาสตร์ ตัวท่าเรือมีขนาดพื้นที่ 1,800 ตารางเมตร แบ่งพื้นที่การปรับปรุงออกเป็น อาคารศาลาพักคอยขนาดพื้นที่ 320 ตารางเมตร จำนวน 2 หลัง โป๊ะเทียบเรือ ขนาด 5×10 เมตร พร้อมสะพานปรับระดับ จำนวน 2 โป๊ะ โป๊ะเทียบเรือขนาด 6×12 เมตร พร้อมสะพานปรับระดับ จำนวน 4 โป๊ะ

อธิรัฐ รัตนเศรษฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม พร้อมด้วย สมพงษ์ จิรศิริเลิศ รองอธิบดีกรมเจ้าท่า ด้านปฏิบัติการ ลงพื้นที่เมื่อ 14 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

ท่าเรือดังกล่าวเป็นท่าเรือสำคัญ เนื่องจากเป็นจุดเชื่อมต่อการเดินทางสู่ระบบขนส่งสาธารณะต่างๆ รวมถึงแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์ ที่มีจำนวนประชาชนและนักท่องเที่ยวใช้ในการเดินทางทางน้ำปริมาณมาก อาทิ เรือด่วนเจ้าพระยา เรือข้ามฟาก เรือทัวร์ เรือหางยาวท่องเที่ยว

หลังการพัฒนาปรับปรุง ปัจจุบันภายในท่าเรือสามารถเชื่อมต่อไปยังพระบรมมหาราชวัง บริเวณหน้าประตูสุนทรทิศา ผ่านอุโมงค์ทางเดินลอดถนนหน้าพระลานและถนนมหาราช เขตพระนคร เป็นการช่วยอำนวยความสะดวก สร้างความปลอดภัยให้แก่ผู้เดินทางมาเที่ยวชมพระบรมมหาราชวัง ที่อยู่ใกล้บริเวณท่าเรือท่าช้าง ถือเป็นการพัฒนาการเดินทางทางน้ำในเขตกรุงเทพฯให้พร้อมเชื่อมต่อการเดินทางในรูปแบบอื่นๆ ต่อไปในอนาคต

นับเป็นความคืบหน้าล่าสุดของการพัฒนาการคมนาคมภายในเกาะรัตนโกสินทร์ทั้งทางบก เชื่อมโยงกับทางน้ำ ที่ยังคงเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตผู้คนในบางกอก หรือกรุงเทพมหานครตั้งแต่อดีตจนถึงทุกวันนี้

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image