7160
"รู้จักเวลา” “รู้จักหน้าที่” “รู้จักยับยั้งชั่งใจ” สามทักษะสำคัญสร้างการรับผิดชอบต่อตนเองและผู้อื่น

"รู้จักเวลา” “รู้จักหน้าที่” “รู้จักยับยั้งชั่งใจ” สามทักษะสำคัญสร้างการรับผิดชอบต่อตนเองและผู้อื่น

โพสต์เมื่อวันที่ : June 19, 2022

สามทักษะสำคัญที่ทำให้เด็ก ๆ สามารถรับผิดชอบต่อตนเองและการกระทำของตนได้ ทั้งนี้ทักษะเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ เมื่อพ่อแม่เป็นให้เห็น ทำให้ดู และทำไปพร้อมกับลูกด้วย

 

◆ 1. “รู้จักเวลา” หรือ “รู้กาลเทศะ ◆

คือ รู้ว่า เวลาไหนควรทำอะไร ที่ไหน อย่างไร” ถ้าบ้านมี “ตารางเวลา” ที่ชัดเจน เด็ก ๆ จะรู้ว่า "เวลาไหนควรทำอะไร ที่ไหน" พ่อแม่บางท่านอาจจะกังวลว่า “การมีตารางเวลาที่บ้านจะกดดันเด็กเกินไปไหม” ถ้าให้ลองเปรียบเทียบระหว่างการมีตารางเวลาช่วยบอกเขา และเด็กควบคุมตัวเขาเองให้ทำตามตารางเวลา กับ ผู้ใหญ่คอยควบคุมบอกเขาทุก ๆ อย่าง ว่า เวลาไหนเขาควรทำอะไร แบบไหนดีกว่ากัน หรือถ้าให้ชัดเจนขึ้นไปอีก 

 

 

สมมติถ้าเราไปเที่ยว

  • หัวหน้าทัวร์คนท่ี 1 บอกเราว่า “วันนี้จะพาไปแต่ละที่ เดี๋ยวจะทยอยบอกเมื่อไปถึงว่าจะไปที่ไหนเวลาไหนบ้าง” 
  • หัวหน้าทัวร์คนที่ 2 บอกเราว่า “วันนี้เราจะไปทั้งหมด 5 ที่ โดยเเวะที่แรกเวลา 10 โมง มีเวลาอยู่ถึง 11 โมง” แม้ว่าทั้งสองทัวร์จะไปครบทั้ง 5 สถานที่เหมือนกัน เราจะเลือกไปกับหัวหน้าทัวร์คนไหน?

ดังนั้นการมีตารางเวลาช่วยให้เด็กรู้ว่า “เขามีเวลาเท่าไหร่ในการทำแต่ละอย่าง ก่อนจะต้องไปทำอย่างต่อไป และทำให้เขาได้ฝึกเรียงลำดับความสำคัญก่อนหลังด้วย ว่าอะไรสำคัญกว่าอะไร”

 

ที่สำคัญเมื่อเด็ก ๆ และคนที่บ้านมีตารางเวลาที่ชัดเจน ตารางเวลาจะช่วยลดการสั่ง การบ่น และการหงุดหงิดใส่กันภายในบ้านได้มากทีเดียว “ความตรงต่อเวลา” คือสิ่งที่สร้างได้ตั้งแต่วัยเยาว์ และจะเกิดขึ้นในตัวเด็กได้อย่างเป็นธรรมชาติ เมื่อพ่อแม่และผู้ใหญ่รอบตัวเขาเป็นคนตรงต่อเวลา

◆ 2. “รู้จักหน้าที่ และรับผิดชอบต่อหน้าที่ได้” ◆

เด็กที่รู้หน้าที่ คือ เด็กที่รู้ว่า ตัวเองต้องรับผิดชอบทำสิ่งใด และทำสิ่งนั้นจนสำเร็จ นอกจากนี้สามารถรับผิดชอบต่อการกระทำของตนได้ พ่อแม่ที่จะช่วยให้ลูกรู้หน้าที่และความรับผิดชอบ คือ พ่อแม่ที่ไม่ช่วยเหลือในสิ่งที่ลูกทำได้แล้ว และสอนในสิ่งที่ลูกยังทำไม่ได้ให้เขา เพื่อลูกจะได้ฝึกการทำสิ่งต่างๆ ด้วยตนเอง และรับผิดชอบทำมันจนเสร็จ เกิดเป็นความภาคภูมิใจในท้ายที่สุด 

พ่อแม่สามารถมอบหมายหน้าที่ให้กับเด็ก ๆ ตามวัยของเขาได้ เด็กเล็กให้ดูแลช่วยเหลือตัวเอง เช่น กินข้าว อาบน้ำ แต่งตัว และการช่วยเหลือตัวเองตามวัย เด็กที่เริ่มโตขึ้นมาหน่อยให้ช่วยงานบ้าน เช่น รดน้ำต้นไม้ ล้างจาน เช็ดโต๊ะ เป็นต้น เพื่อให้เด็ก ๆ ได้เรียนรู้ที่จะรับผิดชอบงานจากงานของตัวเอง ไปสู่งานของส่วนรวมเล็ก ๆ และสุดท้ายไปสู่

งานใหญ่ ๆ ในชีวิต ที่สำคัญไปกว่านั้น คือ การรับผิดชอบในการกระทำของตนไม่ว่าจะดีหรือไม่ดี ต้องพร้อมแก้ไข ไม่หนีปัญหา

 

เคล็ดลับสำหรับพ่อแม่ : พ่อแม่ควรเปิดโอกาสให้ลูกลองฝึกแก้ปัญหาด้วยตนเองก่อน ถ้าลูกทำไม่ได้ เราจะเข้าไปสอนหรือแนะนำ แต่จะไม่แก้ปัญหาให้ทันที เราจะเคียงข้างลูกจนเขาสามารถแก้ปัญหานั้นได้สำเร็จ ข้อสำคัญ คือ พ่อแม่ต้องมีความอดทนเพียงพอที่จะรอให้ลูกทำสิ่งต่าง ๆ ด้วยตนเอง

 

◆ 3. “รู้จักยับยั้งชั่งใจ” ◆

ยิ่งไปกว่าความสามารถไหน ๆ คือ การรู้จักยับยั้งชั่งใจ เด็ก ๆ ที่มีความสามารถนี้ แม้เขาจะไม่ใช่คนที่เก่งที่สุด แต่เด็กที่มีความสามารถในการยับยั่งใจ จะทำให้เด็กรอคอย อดทน และฝ่าฟันทุกอุปสรรคไปจนตลอดรอดฝั่ง ไม่ไขว้เขวต่อสิ่งยั่วยุ (ไม่ตกม้าตายไปเสียก่อน) และไปได้ถึงเป้าหมายที่ตนเองตั้งไว้

 

เคล็ดลับสำหรับพ่อแม่ : ความสามารถนี้ต้องเริ่มปลูกฝังตั้งแต่ยังเด็ก คือ 0-6 ปี ผ่านการให้เด็กฝึกรอคอยบางอย่าง เช่น...
  • ในเด็กเล็ก พ่อแม่ต้องไม่รู้ใจลูกทุกเรื่อง และตามใจเขา ต้องให้ทุกสิ่งทันทีที่ลูกขอ โดยที่ลูกยังไม่ทันสื่อสารหรือพยายามทำด้วยตัวเองก่อนเลย เด็ก ๆ ควรสื่อสารและให้เขารอบ้าง ในระยะเวลาที่เขารอได้ตามวัยของเขา 
  • ในเด็กโต เมื่อเขาอยากได้อะไรมาก ๆ อย่าเพิ่งซื้อให้เขาทันที ฝึกเขาให้เก็บอดออมเพื่อให้สิ่งนั้นมา (Delayed gratification) 

ไม่ใช่แค่การยับยั้งชั่งใจในเรื่องของความอยากได้สิ่งต่าง ๆ แต่หมายรวมถึงการยับยั่งชั่งใจให้ทำสิ่งที่เหมาะสมและไม่ทำในสิ่งที่ไม่เหมาะสมด้วย ทั้งนี้เด็ก ๆ จะต้องฝึกฝนจากรูปธรรม เช่น การรอคอยให้ถึงเวลา ไปจนถึงการฝึกฝนในเชิงนามธรรม เช่น การจัดการอารมณ์ และการหักห้ามใจไม่ทำในสิ่งที่ไม่ควรทำ

 

แม้พ่อแม่สามารถให้คำแนะนำดี ๆ และชี้นำให้ลูกเดินไปในทางที่ถูกได้ แต่สุดท้ายลูกคือผู้เลือกทางเดินชีวิตของตัวเอง "สร้างรากฐานแห่งความรับผิดชอบในวัยเยาว์ และมอบปีกแห่งอิสรภาพในวันที่เขาพร้อมจะออกไปเผชิญโลกด้วยตนเอง"

 

เด็กทุกคนเกิดมาเพื่อเป็นตัวเขาเอง ไม่ใช่สิ่งที่เราต้องการให้เขาเป็น สิ่งที่พ่อแม่สามารถทำได้ดีที่สุดในวันที่ลูกยังอยู่ในอ้อมอกของเรา คือ การให้ความรักผ่านการให้เวลาลูก ให้การสอนวินัยที่สำคัญต่อการใช้ชีวิตและการอยู่ร่วมกับผู้อื่น ที่เหลือ คือ หน้าที่ของลูกที่เขาจะค้นหาทางเดินชีวิตของเขาเอง