ชาวอินเดียเก็บรักษาความทรงจำเกี่ยวกับสมรภูมิอิมผาลไว้ ในขณะที่สิ่งที่เหลือทิ้งไว้จากสมรภูมิยังคงคร่าชีวิตผู้คน
Backstories

ชาวอินเดียเก็บรักษาความทรงจำเกี่ยวกับสมรภูมิอิมผาลไว้ ในขณะที่สิ่งที่เหลือทิ้งไว้จากสมรภูมิยังคงคร่าชีวิตผู้คน

    NHK World
    Video journalist
    NHK New Delhi Bureau
    Producer
    "ระเบิดที่ยังไม่ระเบิดยังคงคร่าชีวิตผู้คน สำหรับเราแล้วสงครามยังไม่จบ" คำพูดเหล่านี้มาจากชายชาวอินเดียอายุ 45 ปีที่ทำงานถ่ายทอดประวัติศาสตร์ของสมรภูมิอิมผาล ซึ่งได้รับการขนานนามว่าเป็น "การสู้รบที่น่าสลดใจที่สุดของสงครามมหาเอเชียบูรพา" NHK ตรวจสอบเรื่องราวการต่อสู้ของญี่ปุ่นในอินเดียที่ห่างไกล และพบว่าคนรุ่นหนุ่มสาวที่ไม่เคยสัมผัสกับสงครามโดยตรงกำลังพยายามบันทึกเหตุการณ์ที่โหดร้ายนั้น
    อิมผาล เมืองเอกของรัฐมณีปุระในอินเดีย

    เมื่อปี 2487 กองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่นเปิดฉากการรุกเมืองอิมผาล เมืองเอกของรัฐมณีปุระทางตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย โดยตั้งใจที่จะโจมตีกองกำลังอังกฤษที่ประจำการอยู่ที่นั่นโดยเป็นฐานทัพสำคัญสำหรับฝ่ายพันธมิตรในการขนส่งเสบียงไปยังจีน

    ทหารญี่ปุ่น อังกฤษ และอินเดียหลายหมื่นนายเสียชีวิตในการสู้รบ

    การรบที่อิมผาลเป็นที่รู้จักกันในญี่ปุ่นว่าเป็นการต่อสู้ที่ดุเดือดและบ้าบิ่นที่สุดในสงครามโลกครั้งที่สอง อย่างไรก็ตาม ที่อินเดีย หลายคนไม่ค่อยรู้เรื่องนี้มากนัก แม้แต่ความจริงที่ว่าคนในท้องถิ่นมีส่วนเกี่ยวข้องและบางคนเสียชีวิตจากการทิ้งระเบิด

    ผู้คนบนถนนในเมืองอิมผาล เมืองเอกของรัฐมณีปุระของอินเดีย

    รักษาสิ่งที่หลงเหลือจากสมรภูมิ

    ราเชสวาร ยุมนัมต้องการสานต่อประวัติศาสตร์ของสมรภูมิอิมผาล ราเชสวารอายุ 45 ปีซึ่งเกิดและโตที่เมืองนี้กล่าวว่า ที่โรงเรียนเขาแทบจะไม่ได้เรียนรู้อะไรเลยเกี่ยวกับการต่อสู้นี้ ขณะทำงานเป็นพนักงานในพื้นที่ เขาได้พบกับชาวบ้านที่กำลังเก็บอาวุธและสิ่งของอื่น ๆ จากการสู้รบที่ดุเดือด ซึ่งทำให้เขาตกใจ

    เมื่อรู้ว่ารัฐบาลและคนในพื้นที่แทบจะไม่มีการรวบรวมบันทึกเกี่ยวกับสมรภูมิอิมผาล เขาและเพื่อนร่วมงานจึงเริ่มไปที่สนามรบเพื่อขุดค้นและอนุรักษ์เศษซากสิ่งของที่หลงเหลืออยู่

    ชานเมืองอิมผาล (ซ้าย) และภูเขาที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นฉากการต่อสู้ครั้งยิ่งใหญ่ (ขวา)

    NHK ร่วมเดินทางไปยังสถานที่ดังกล่าวกับราเชสวารเพื่อการขุดค้นโดยใช้เวลาขับรถประมาณ 1 ชั่วโมงจากใจกลางเมืองอิมผาล ตามด้วยการขับรถขึ้นถนนบนเขาอีก 40 นาที

    ราเชสวารและทีมของเขาใช้แผนที่อายุหลายสิบปีในการระบุตำแหน่งและใช้เครื่องตรวจจับโลหะเพื่อค้นหาร่องรอย เมื่อพบโพรงบนดินที่พวกเขาคิดว่าทหารอาจขุดเพื่อซ่อนอะไรบางอย่าง พวกเขาจะค่อย ๆ เกลี่ยดินด้วยพลั่ว

    ราเชสวาร ยุมนัมและทีมขุดพบอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ใช้แล้ว

    หลังจากนั้นไม่นานก็มองเห็นแท่งออกสีเขียว ๆ ซึ่งราเชสวารระบุว่าเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องกระสุน ในการทำงานกว่าสามชั่วโมง พวกเขาพบสิ่งของประมาณ 20 ชิ้น รวมทั้งปลอกกระสุนปืนและชิ้นส่วนอาวุธ

    ราเชสวารกล่าวว่า การอนุรักษ์สิ่งที่หลงเหลือจากสนามรบจะทำให้คนรุ่นหลังรู้ประวัติที่ชัดเจนถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในเวลานั้น

    เขากล่าวว่า “ความจริงที่ว่าพบเครื่องกระสุนจำนวนมากบ่งชี้ว่ามีการสู้รบที่ดุเดือดเกิดขึ้นที่นี่”

    หลังจากนั้นราเชสวารได้ขอให้สงบนิ่งเพื่อรำลึกถึงทหารที่เสียชีวิต

    ในปีนี้ราเชสวารยังได้เริ่มกิจกรรมเพื่อสื่อถึงอันตรายที่เกิดจากอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ยังไม่ระเบิดซึ่งหลงเหลือจากสงคราม เขาได้รับแรงบันดาลใจจากการเสียชีวิตของชายสองคน

    พี่น้องในวัย 20 ปี ซึ่งราเชสวารได้พบเมื่อ 2 ปีก่อนขณะเก็บสิ่งของที่หลงเหลือจากการต่อสู้ เสียชีวิตเมื่อระเบิดที่ยังไม่ทำงานเกิดระเบิดขึ้น

    ราเชสวารตระหนักว่าเขาต้องแจ้งให้ผู้คนรู้ว่า บริเวณนั้นเคยเป็นสนามรบและอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ยังไม่ระเบิดมีความเสี่ยง เขาทำโปสเตอร์พร้อมรูปภาพและเริ่มไปเยี่ยมหมู่บ้านโดยรอบเพื่อสร้างความตระหนักรู้

    ราเชสวาร ยุมนัมและทีมงานได้เริ่มโครงการ 'DO NOT TOUCH' หรืออย่าแตะต้องเพื่อสร้างความตระหนักรู้ถึงอันตรายของระเบิดที่ยังไม่ระเบิดที่เหลืออยู่บนภูเขา

    ราเชสวารหวังว่าความคิดริเริ่ม "DO NOT TOUCH" จะช่วยชีวิตคนจำนวนมากได้

    ความทรงจำของคนในพื้นที่ถ่ายทอดผ่านเลนส์

    มีนา โลงชัมเกิดและเติบโตที่เมืองอิมผาลและสอนที่มหาวิทยาลัยในท้องถิ่น มีนาอายุ 39 ปีสร้างภาพยนตร์สารคดีโดยออกค่าใช้จ่ายด้วยตัวเองในช่วงสิบปีที่ผ่านมา

    มีนา โลงชัมกำกับภาพยนตร์เกี่ยวกับสมรภูมิอิมผาล

    เธอกำลังทำงานในภาพยนตร์เกี่ยวกับสมรภูมิอิมผาลด้วยเสียงของผู้คนที่มีชีวิตอยู่ในช่วงเวลานั้น

    โลงชัมเลือกธีมของภาพยนตร์เรื่องนี้หลังจากการเสียชีวิตของย่าซึ่งเคยเล่าเรื่องสงครามให้เธอฟัง

    โลงชัมได้ไปที่ฮิโรชิมาเมื่อ 4 ปีที่แล้วเพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์สงครามในญี่ปุ่น การเดินทางทำให้เธอตะหนักว่าพลเมืองของญี่ปุ่นมีส่วนร่วมในสงครามเช่นเดียวกับคนที่อยู่ที่อิมผาล มีนาตั้งตารอที่จะพูดคุยเกี่ยวกับประสบการณ์ของเธอในฮิโรชิมากับย่าของเธอ แต่เธอไม่มีโอกาสทำเช่นนั้นในช่วงก่อนที่ย่าของเธอจะล้มป่วยและเสียชีวิตด้วยอายุ 91 ปี

    แม้ว่าเธอจะไม่สามารถรับฟังประสบการณ์จากย่าของเธอได้อีก แต่เธอก็ตระหนักดีว่าเหลือเวลาอีกเพียงน้อยนิดที่จะได้ฟังโดยตรงจากผู้คนที่อาศัยอยู่ในช่วงสงคราม

    เธอกล่าวว่า “แม้การเสียชีวิตของย่าจะเป็นเรื่องน่าเศร้ามาก แต่ก็ทำให้ฉันตระหนักว่าจำนวนผู้ที่ประสบกับเหตุการณ์นี้กำลังลดลงเนื่องจากอายุที่มากขึ้น ตอนนี้ถึงเวลาแล้วที่คนรุ่นใหม่จะรวบรวมประจักษ์พยานให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้”

    NHK ได้ติดตามโลงชัมไปในการถ่ายทำคำบอกเล่าของชายอายุ 93 ปี เขามีอายุ 12 ปีตอนที่มีการสู้รบ

    ชายคนนั้นเล่าว่า “มีการยิงต่อสู้กันอย่างรุนแรง และทหารอังกฤษพยายามอย่างสุดกำลังเพื่อหยุดยั้งการรุกคืบของทหารญี่ปุ่น ทหารญี่ปุ่นที่มาถึงหมู่บ้านแทบไม่มีอะไรจะกิน”

    โลงชัมจดบันทึกและบันทึกวิดีโอคำบอกเล่าของเขาเป็นเวลาสองชั่วโมง

    ภาพถ่ายของทหารที่มีธงญี่ปุ่นที่เอามาให้โลงชัมดู

    ต่อมาโลงชัมได้ไปเยี่ยมชายอายุ 97 ปีที่ต่อสู้กับกองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่นในฐานะทหารในฝ่ายอังกฤษ เนื่องจากอายุมากและมีปัญหาในการได้ยิน ลูกชายจึงทวนคำถามของเธอด้วยเสียงอันดัง

    ชายคนนั้นขมวดคิ้วและพยายามอย่างเต็มที่ที่จะตอบด้วยเสียงแผ่วเบา "ฉันลืมทุกอย่างแล้ว..."

    อดีตทหารอายุ 97 ปีต่อสู้ให้กับฝ่ายอังกฤษในสมรภูมิอิมผาล

    โลงชัมบอกเขาว่า "เรื่องเล็กน้อยก็ไม่เป็นไรค่ะ ช่วยเล่าเรื่องให้ฉันฟังหน่อยได้ไหมคะ"

    อดีตนายทหารกล่าวว่า "เรามีกระสุนเพียง 200 นัดและขวดน้ำ... และเราดื่มน้ำและต่อสู้ เราไม่พบคนญี่ปุ่น และเราไม่รู้ว่าใครเสียชีวิต..."

    เขาสรุปว่า "ฆ่ากันไปเพื่ออะไร ?...มันไม่มีประโยชน์อะไรเลย"

    โลงชัมกล่าวว่า เธอรู้สึกเสียใจที่ไม่ได้เริ่มโครงการของเธอเร็วกว่านี้เพื่อรับฟังความทรงจำจากผู้คนมากขึ้น แต่เธอมั่นใจว่าเธอยังสามารถบันทึกและรักษาเสียงอันมีค่าจากช่วงเวลาของการสู้รบได้ เธอหวังว่าจะบันทึกคำบอกเล่าของพวกเขาต่อไปและทำให้ภาพยนตร์เรื่องนี้เสร็จสมบูรณ์

    เธอกล่าวว่า “คนรุ่นเราต้องส่งต่อคำบอกเล่าเหล่านี้เพื่อสันติภาพในอนาคต”

    อิทธิพลจากต่างประเทศเป็นแรงบันดาลใจให้คนรุ่นใหม่เกิดความสนใจในท้องถิ่น

    ผู้เชี่ยวชาญคนหนึ่งกล่าวว่า อิทธิพลจากต่างประเทศได้ช่วยสร้างแรงบันดาลใจทำให้เกิดการเคลื่อนไหวในอินเดียในการบอกเล่าเรื่องราวของสงครามเมื่อเกือบ 80 ปีที่แล้ว

    รองศาสตราจารย์อาคันตุกะเรียวเฮ คาไซแห่งมหาวิทยาลัยสตรีกิฟุซึ่งคุ้นเคยกับสถานการณ์ในพื้นที่กล่าวว่า การติดต่อกับชาวต่างชาติทำให้คนในท้องถิ่นรู้ว่ามีสงครามครั้งประวัติศาสตร์เกิดขึ้นในดินแดนของตน การแพร่กระจายของสมาร์ตโฟนและอินเทอร์เน็ตเป็นแรงบันดาลใจให้คนในพื้นที่ฉุกคิดถึงประวัติศาสตร์ของพื้นที่ที่ตัวเองอยู่

    สัญลักษณ์แห่งสันติภาพและการปรองดองที่ยั่งยืน

    พิพิธภัณฑ์สันติภาพอิมผาลตั้งอยู่ที่เชิงเขา “Red Hill” ซึ่งมีทหารญี่ปุ่นเสียชีวิตจำนวนมาก

    พิพิธภัณฑ์สันติภาพอิมผาลสร้างขึ้นในปี 2562 โดยได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิของญี่ปุ่น มันตั้งอยู่ที่เชิงเขาที่เรียกว่า "Red Hill" ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นสถานที่สู้รบที่ดุเดือดซึ่งมีทหารญี่ปุ่นเสียชีวิตจำนวนมาก

    อาสาสมัครท้องถิ่นช่วยขับเคลื่อนความพยายามในการจัดตั้งสถานที่ ซึ่งมุ่งเน้นมุมมองของผู้คนในพื้นที่ที่เกี่ยวข้องกับสงคราม

    นอกจากสิ่งของทางทหารที่หลงเหลือแล้ว ยังมีการจัดแสดงประจักษ์พยานและแผ่นจารึกชื่อของคนในท้องถิ่นที่เสียชีวิตในการต่อสู้

    ในขณะที่บรรดาผู้รอดชีวิตที่เหลืออยู่จากช่วงเวลานั้นกำลังจะจากไป พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ได้อนุรักษ์ประวัติศาสตร์ของสงครามไว้สำหรับคนรุ่นหลัง โดยหวังว่าพวกเขาจะพยายามอย่างต่อเนื่องเพื่อปกป้องสันติภาพ

    ดูวิดีโอ 4:10